ฟ้อนเผ่าไทภูพาน

ฟ้อนเผ่าไทภูพาน

บริเวณเทือกเขาภูพานซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนมและอุดรธานี ซึ่งบริเวณเทือกเขาภูพาน มีชนเผ่าอาศัยอยู่หลายเผ่าด้วยกัน

  1. เผ่าภูไท เดิมอาศัยอยู่แถบเมืองแถง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า สิบสองเจ้าไทย หรือ สิบสองจุไทย หรือสิบสองภูไท ต่อมา ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย โดยส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งที่ไทยกวาดต้อนผู้คนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงในคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์  ปัจจุบัน ชาวภูไทตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่อำเภอวาริชภูมิ และอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม และอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
  2. เผ่าโส้  เดิมอาศัยอยู่แถบเมืองมหาชัยกรองแก้ว ในประเทศลาว อพยพและถูกกวาดต้อนเข้ามาอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทย มีภาษาพูดคล้ายภาษามอญปนเขมร อาศัยอยู่มากที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร อำเภอศรีสงคราม กิ่งอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม
  3. เผ่าย้อ  เดิมตั้งถิ่นฐานแถบเมืองคำเกิด คำม่วน ขึ้นอยู่ในความปกครองของนครเวียงจันทน์ ต่อมาเวียงจันทน์ตกเป็นของไทย ราวปี พ.ศ. 2379 เจ้าเมืองคำเกิดได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ และอพยพราษฎรจากเมืองคำเกิด คำม่วน มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย พวกที่อพยพมา ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อุดรธานี กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม
  4. เผ่ากะเลิง  เดิมอยู่เมืองกะตาก ซึ่งไม่ทราบชัดว่าเมืองกะตากอยู่ที่ไหน ปัจจุบันคนเผ่ากะเลิงส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร ที่บ้านเชิงชุม ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม
  5. เผ่าแสก  เดิมอาศัยอยู่แถบเทือกเขาบรรทัดต่อแดนญวน ต่อมาชาวแสกเห็นว่าที่อยู่เดิมไม่ค่อยจะอุดมสมบูรณ์ จึงอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทย ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพอใจกับความอุดมสมบูรณ์ก็เลยตั้งรกรากตามระยะทางที่อพยพมา จึงมีชาวแสกบางส่วนอาศัยอยู่ในประเทศลาว พวกที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้นตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
    และในคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์ ไทยได้กวาดต้อนชาวแสกเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง เดิมชาวแสกมีเจ้าเมืองปกครองตนเอง และไม่ได้ขึ้นต่อหัวเมืองต่างๆ แต่ก็ต้องส่งส่วยให้กับกรุงเทพฯ
    ปัจจุบัน ชาวแสกอาศัยอยู่มากที่บ้านอาจสามารถ บ้านไผ่ล้อม บ้านมะหว้า และบ้านดอนส้มมอ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

นอกจากนี้ ยังมีอยู่อีก 2 กลุ่ม คือ พวกโย้ย และกะตาก ซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การฟ้อนชุดเผ่าไทภูพานจึงละเผ่าโย้ยและกะตากไว้ โดยได้นำเอาชนเผ่า 5 เผ่า ดังกล่าวข้างต้น มาจัดทำเป็นชุดฟ้อน พร้อมมีเนื้อร้องประกอบ เพื่ออธิบายให้ทราบถึงที่มาและถิ่นที่อาศัยในปัจจุบัน ของชนเผ่าแต่ละเผ่า ซึ่งในปัจจุบันชนกลุ่มน้อยต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่แตกต่างจากชาวอีสานโดยทั่วๆ ไป

การฟ้อนชุดนี้ ใช้ผู้แสดงหญิง 10 คน เผ่าละ 2 คน โดยมีลำดับการออกของแต่ละเผ่า ดังนี้ เผ่าผู้ไท เผ่าย้อ เผ่ากะเลิง เผ่าโส้ และเผ่าแสก สุดท้ายทุกเผ่าจะฟ้อนร่วมกัน เป็นนัยบอกว่า แม้ต่างเผ่า ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

ฟ้อนเผ่าไทภูพาน

ฟ้อนเผ่าไทภูพาน

เครื่องแต่งกายชุดฟ้อนเผ่าไทภูพาน

เผ่าภูไท สวมเสื้อแขนกระบอกเข้ารูปสีดำ ขลิบสีแดง เสื้อผ่าอกตลอด ติดกระดุมสีขาวเรียงเป็นแถว ตั้งแต่คอจนถึงเอว ชายเสื้อด้านหน้าแยกจากกัน ผ้านุ่งสีดำยาวต่อเชิงด้วยผ้าขิด สวมเล็บมือทั้งสิบเล็บ ปลายเล็บมีพู่ เกล้าผมสูงเอียงซ้าย คาดผ้าสีแดงปล่อยชายลงข้าง ห่มสไบผ้าขิด

เผ่ากะเลิง สวมเสื้อแขนสั้น คอรูปตัวยู จีบรูดรอบๆ คอ นุ่งผ้าหมี่สั้นยาวกรอมเท้า คาดเข็มขัดเงิน เกล้าผมมวย สวมเครื่องประดับเงิน

เผ่าย้อ ใช้ผ้าขาวม้าคาดอกเก็บชาย นุ่งผ้าซิ่นหมี่สั้นมีเชิง ผ้าขาวม้าคาดเอวห้อยชายข้างซ้าย เกล้าผม เครื่องประดับทำด้วยเงิน เช่น กำไล ตุ้มหู

เผ่าโส้ เสื้อสีแดงทรงตรง ยาวแค่ตะโพก แขนยาวแค่ข้อศอก คอเสื้อแหลมป้ายข้างขลิบชายเสื้อด้วยสีดำ ติดกระดุมเรียงกัน นุ่งผ้าซิ่นหมี่มีเชิง ห่มสไบตวัดลงข้างหน้า เกล้าผมคาดด้วยสีขาว เครื่องประดับทำด้วยเงิน ได้แก่ สร้อยคอ ตุ้มหู กำไลแขน กำไลเท้า

เผ่าแสก เสื้อขาวแขนกระบอกขลิบดำหรือน้ำเงิน ติดกระดุมเรียงถี่ๆ นุ่งผ้าซิ่นหมี่ทับเสื้อ คาดเข็มขัดเงิน เกล้าผม มีเครื่องประดับทำด้วยเงินที่ข้อมือข้อเท้า

ดนตรีสำหรับฟ้อนเผ่าไทยภูพาน

เผ่าผู้ไท          ใช้ลายภูไท (บางแห่งใช้ลายคอนสวรรค์)
เผ่ากะเลิง       ใช้ลายเต้ยโขง
เผ่าย้อ           ใช้ลายแมงตับเต่า
เผ่าโส้           ใช้ลายบ้งไต่ขอน
เผ่าแสก         ใช้ลายลำเพลิน
รวมเผ่าไทยภูพาน  ใช้ลายลำยาว (หรือใช้ลายเซิ้ง)

เนื้อร้องประกอบฟ้อนเผ่าไทภูพาน

ผู้แต่ง : วิรัช บุษยกุล (วิทยาลัยครูสกลนคร)

(ภูไท) ซุมข้าน้อยเป็นชาวภูไท ถิ่นอยู่ไกลอีสานบ้านเกิด แสนประเสริฐอุดมสมบูรณ์ ศูนย์โฮมใจคือองค์พระธาตุ
สาวน้อยนางเอย สาวภูไทเอย

(กะเลิง) ซุมข้าน้อยสาวกะเลิงน้อยอ่อน มาอยู่สกลนคร บ่อนดินดำน้ำซุ่ม แถบที่ลุ่มน้ำใหญ่แม่นหนองหาร นี้ละนา

(ย้อ) ซุมข้าน้อย กะคือไทยย้อ บ่อนอยู่ม่อเมืองท่าอุเทน มาหลายเซ่นหลายซั่วลูกหลาน ข้าวปลาอาหารบ่อึดบ่อยาก
มาได้มากพออยู่พอมี ของแซบอีหลี แม่นปลาแดกอึ่ง

(โส้) หมู่ข้าน้อยไทยโส้กุสุมาลย์ เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ที่ฮาบลุ่มเขาภูพาน ติดเขตแดนหนองหาร อยู่สำราญกันตลอดมา

(แสก) สาวน้อยแสกเพิ่นหากงามแท้น้อ แม้นไผได้พ้อกะจิตต่อใจฝัน แต่ก่อนนั้นอยู่ฝั่งซ้ายน้ำของ แล้วจึงล่องลงมาสู่
อีสานคู่มื้อนี้


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*