การฟ้อนรำจังหวัดนครพนม

ฟ้อนภูไทเรณูนคร

การฟ้อนภูไทเรณูนคร เป็นการฟ้อนประเพณีที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ที่สร้างบ้านแปลงเมือง การฟ้อนภูไทนี้ถือว่าเป็นศิลปะเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม ประจำเผ่าของภูไทเรณูนคร ถือว่าฟ้อนภูไทเป็นการฟ้อนที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม

ฟ้อนภูไทเรณูนคร

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมานมัสการพระธาตุพนมในปี พ.ศ. 2498 นั้น นายสง่า จันทรสาขา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น ได้จัดให้มีการฟ้อนผู้ไทถวาย นายคำนึง อินทร์ติยะ ศึกษาธิการอำเภอเรณูนคร ได้อำนวยการปรับปรุงท่าฟ้อนผู้ไทให้สวยงามกว่าเดิม โดยเชิญผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ในการฟ้อนผู้ไทมาให้คำแนะนำ จนกลายเป็นท่าฟ้อนแบบแผนของชาวเรณูนคร และได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานสืบทอดต่อจนปัจจุบัน

ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุวิชา การฟ้อนภูไทเรณูนคร เข้าไว้ในหลักสูตร ให้นักเรียนทั้งชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้ฝึกฝนเล่าเรียนกันโดยเฉพาะนักเรียนที่เล่าเรียนอยู่ในสถานศึกษาภายในเขตอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม จะฟ้อนรำประเพณี  “ฟ้อนภูไทเรณูนคร” เป็นทุกคน

ฟ้อนภูไทเรณูนคร

ฟ้อนภูไทเรณูนคร

ลักษณะการฟ้อนภูไทเรณูนคร

ชายหญิงจับคู่เป็นคู่ ๆ แล้วฟ้อนท่าต่าง ๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยฟ้อนรำเป็นวงกลม แล้วแต่ละคู่จะเข้าไปฟ้อนกลางวงเป็นการโชว์ลีลาท่าฟ้อน

หญิงสาวที่จะฟ้อนภูไทเรณูนครต้อนรับแขก

จะได้ต้องเป็นสาวโสด ผู้ที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ฟ้อนภูไทเรณูนคร เวลาฟ้อนทั้งชายหญิงจะต้องไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้า และที่สำคัญคือในขณะฟ้อนภูไทนั้น ฝ่ายชายจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้เด็ดขาด (มิฉะนั้นจะผิดผี เพราะชาวภูไทนับถือผีบ้านผีเมือง อาจจะถูกปรับไหมตามจารีตประเพณีได้)

ท่าฟ้อนภูไทเรณูนคร

มี 16 ท่า ดังนี้คือ

1. ท่าโยกหรือท่าเตรียม (ท่าเตรียมโยกตัวไปมาเป็นการอุ่นเครื่องเพื่อจะไปท่าบิน)
2. ท่าบิน หรือท่านกกะทาบินเลียบ
3. ท่าเพลิน หรือท่าลำเพลิน
4. ท่าเชิด หรือ ท่ารำเชิด
5. ท่าม้วน หรือท่ารำม้วน
6. ท่าส่าย หรือท่ารำส่ายเปิด
7. ท่าลมพัดพร้าว
8. ท่ารำเดี่ยว หรือฟ้อนเลือกคู่
9. ท่าเสือออกเหล่า
10. ท่ากาเต้นก้อนข้าวเย็น
11. ท่าเสือลากหาง
12. ท่าม้ากระทืบโฮง
13. ท่าจระเข้ฟาดหาง
14. ท่ามวยโบราณ
15. ท่าถวายพระยาแถน หรือท่าหนุมานถวายแหวน
16. ท่ารำเกี้ยว

ฟ้อนภูไทเรณูนคร

ฟ้อนภูไทเรณูนคร

โอกาสหรือเวลาที่เล่น

นิยมแสดงในเทศกาลต่าง ๆ ที่มีในท้องถิ่น เช่น สงกรานต์ ไหลเรือไฟ งานธาตุวันเพ็ญเดือนสาม และต้อนรับแขกผู้ใหญ่ของจังหวัด เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและมกุฎราชกุมารของต่างประเทศ ฯลฯ

เครื่องดนตรี แบบดั้งเดิม ประกอบด้วย แคน กลองสองหน้า กลองหาง ฆ้องโหม่ง พังฮาด และกั๊บแก๊บ ส่วนในวงโปงลาง ก็ใช้เครื่องดนตรีครบชุดของวงโปงลาง ลายเพลง ใช้ลายลมพัดพร้าว

การแต่งกาย

ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อสีน้ำเงิน คอตั้งขลิบแดงกระดุมเงิน มีผ้าขาวม้าไหมมัดเอว สวมสายสร้อยเงิน ข้อเท้าทำด้วยเงิน ประแป้งด้วยแป้งขาว มีดอกไม้ทัดหูอย่างสวยงาม

ฝ่ายหญิงนั้นนุ่งผ้าซิ่นและสวมเสื้อแขนกระบอกสีน้ำเงินขลิบแดง ประดับด้วยกระดุมเงิน พาดสไบสีขาวที่ไหล่ซ้ายติดเข็มกลัดเป็นดอกไม้สีแดง สวมสร้อยคอ กำไลข้อมือ ข้อเท้าหรือทำด้วยทองหรือเงินตามควรแก่ฐานะของตน เกล้าผม มีดอกไม้สีขาวประดับผม


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*